เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปแสวงบุญ
*****

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
ผู้ เดินทางมาบูชาพระพุทธเจ้า ตามพุทธสถานในพุทธภูมิ ล้วนแล้วก็มากันด้วยพลังศรัทธาอันเกิดจากพุทธวจนะที่ทรงชี้นำทาง เหมือนว่าเชิญชวน หรือให้โอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีๆ แก่ชีวิต โดยนำสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง มาเป็นสื่อการเข้าถึงพระรัตนตรัย ตามที่พระอานนท์ ทูลถามก่อนเสด็จปรินิพพาน ณ ที่สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา ว่า
ในกาลก่อน พุทธบริษัทในทิศทั้งหลาย ต่างพากันมาเพื่อเฝ้าพระตถาคต ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้ใหญ่เจริญใจเหล่านั้น ก็แต่ว่าเมื่อกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า  จักไม่ได้เห็น  จักไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้ใหญ่เจริญใจเหล่านั้นอีก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง เป็นที่ควรเห็นของ กุลบุตรผู้มีศรัทธา ด้วยระลึกว่า:-

        – พระตถาคตประสูติในที่นี้ ๑

– พระตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ๑

-พระตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้วในที่นี้ ๑

        -พระตถาคตเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ ๑

ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใด เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์สถานที่เหล่านั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส   ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

นี้เป็นคำที่พระพุทธองค์ทรงสอน ในมหาปรินิพพานสูตร ให้วิถีแก่เราได้เข้าใกล้พระองค์ ทั้งกายและใจ เหมือนอย่างเมื่อยังดำรงพระชนม์อยู่ โดยอาศัยสังเวชียสถาน   เป็น สื่อนำเข้าถึงสิ่งควรที่จะดู ควรจะเห็น ควรให้เกิดสังเวชแก่ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย และพึงนมัสการด้วยความเคารพ ต่อที่ประสูติ ตรัสรู้ ประทานปฐมเทศนา และปรินิพพาน

เตรียมตัวอย่างไร ?

     การเดินทางไปอินเดีย-เนปาล ทุกวันนี้  ถึง แม้จะยังไม่สะดวกตามใจคิดเท่าใดนัก แต่ก็ยังน่าจะดีกว่าการจาริกแสวงบุญของนักเดินทางรุ่นก่อนๆ ที่ต้องธุดงค์ผ่านแผ่นดินพม่า หรือนั่งเรือรอนแรมในมหาสมุทรเป็นเดือนกว่าจึงฝั่งเบงกอล เรียกว่า ขึ้นทั้งรถม้า เดินเท้า ให้ลาขนสัมภาระ ปีนเขา ลงห้วย ขึ้นรถจี๊บต่อรถไฟกว่าจะถึงแดนพุทธภูมิได้กราบไหว้บูชาที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม ปรินิพพาน ก็แทบแย่ จะต้องพกพาขันติ และศรัทธาห่อใหญ่ๆ จึงจะประคับประคองให้การเดินทางสมประสงค์ได้ดั่งใจหวัง
ผู้คิดว่าจะไปไหว้พระให้ครบ ๔ แห่ง ตามตั้งใจได้นั้น จะต้องปลูกคุณธรรมของผู้เดินทางดังนี้
๑. สัทธิโก  มีความศรัทธา เชื่อมั่น
๒. ปหูตธโน  มีทรัพย์ภายนอก ภายใน พอแก่การใช้สอย
๓. อโรโค   โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน
๔. ปริวาโร   มีบริวารสนับสนุน
๕. มัคคนายโก   มีผู้นำพา ที่เชื่อใจได้
๖. มัคคุเทสโก   มีผู้บรรยายที่ชำนาญให้ความรู้

แดนภารตะ นี้ มีทั้งสุขให้เราเลือก มีทั้งทุกข์ให้เราผจญ ใครจะได้รับสุข หรือทุกข์ ย่อมขึ้นอยู่กับการปรับสภาพของเราเอง พยายามสรรสร้าง ความรู้สึกนึกคิด…ที่ดีดี…ต่อสิ่งที่ผ่านมากระทบ สร้างความเข้าใจต่อสิ่งนั้นๆ หลีกเลี่ยงความกินใจต่อสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา ความยากลำบากเข้าให้ถึงมุมเสน่หาให้ได้ เพราะความเป็นเสน่ห์แบบพิลึกๆ ของเมืองแขกนี่เอง ที่กล่าวขานกันไม่รู้จบ   ความสุข ก็น่าจะเป็นมหาเสน่ห์ ที่ถวิลหาไม่รู้หาย

ดังนั้น จะจาริกอินเดีย-เนปาลให้ดูดี ต้องพกศรัทธา พาปัญญา จูงมือความเพียร สะสมบารมี มาให้เพียงพอต่อการใช้สอยในแต่ละวัน หากศรัทธามีจำกัด ปัญญาจำเขี่ย ความเพียรมีอย่างจำใจ จะทำให้ผู้เดินทางอ่อนระโหยโรยแรง  พลาดจากความสนุกกับสิ่งแปลกใหม่อย่างน่าเสียดาย  ขอให้ทำใจให้ได้อย่างเดียว ความสุขหลายอย่างจะตามมา หากตามใจอย่างเดียวเท่านั้น จะขาดทุนความสุขอีกหลายอย่าง

เมื่อมาอินเดีย-เนปาล
มีคำพูดกันว่า   “มาอินเดีย-เนปาล เพื่อไหว้พระ รับพร   ไปเมืองจีน เพื่อไหว้เจ้า รับโชค” ฟังดูแล้วเห็นจะจริงตามนั้นด้วยจริงๆ  เพราะดินแดนทั้งสองนี้ล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรม เป็นโรงบ่มจิตวิญญาณให้กล้าแกร่ง  ย่อมมีสิ่งที่ดีเลิศ  มอบให้แก่ผู้มีน้ำใจไปเยี่ยมเยือนเสมอ
เพื่อ จะให้สมเจตนา ก่อนเดินทางควรที่จะได้มีการเตรียมการให้พร้อม คือปรับระดับจิตใจในความรู้สึก ความเคยชินกับที่อยู่แห่งเดิม คนหน้าเดิม อาหารที่เดิม และภาษา-วัฒนธรรมเดิมๆ  หากว่าจะได้รับทั้งพร รับทั้งโชค โดยเฉพาะมาอินเดีย-เนปาล จะต้องฝึกวิชาตัวเบา กระทั่งหัดแปลงร่างกายและสภาพจิตลักษณะ ๕ อย่าง ดังนี้
๑. ปัพพชิโต           นักบวช
๒. ปุญญจาริโก        นักบุญ
๓. สิกขโก              นักศึกษา
๔. ปัณฑิโต             นักปราชญ์
๕. เอกจาริโก           นักผจญภัย
เมื่อเรานำคุณธรรม ทั้ง ๕ พยายามมาปรับให้เข้ากับตนทำว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม  ตลอดกาลเดินทางในอินเดีย-เนปาล จะรู้สึกว่า ราบรื่น สะดวกสบาย ไม่ลำบากเหมือนที่เคยคิด
เรามาอินเดีย-เนปาล ดูความเจริญในความเสื่อม หมายความว่า สถูป วิหาร เจดีย์  ผู้ คนยากจน แต่งตัวมอมแมม กระท่อมดินเล็กๆ ถนนหนทางล้าหลัง เหล่านี้เรื่องความเสื่อมของเขาทั้งนั้น แต่จิตใจเรากลับเจริญขึ้น ภูมิใจในความเป็นตนเอง ภูมิใจในประเทศของตนมากขึ้น  คิดว่าอย่างไรเสีย เรายังดีกว่าเขาอีกมาก เราไปประเทศอื่น ไปดูความเสื่อมในความเจริญ คือ เห็นบ้านเมืองเขาเจริญ มีรถ มีบ้าน มีที่ทำงาน ผู้คนแต่งตัว หน้าตาสวยๆ งามๆ หันกลับมองที่ตัวเรา บ้านก็ไม่หรู ตู้ก็ไม่สวย แถมรถก็ตกรุ่นไปแล้ว อะไรก็สู้เขาไม่ได้  นี่เองที่เรียกว่า  ความเสื่อมในความเจริญ

อุปกรณ์เครื่องใช้
*****

เสื้อผ้า

     ควรเลือกให้เหมาะกับฤดูกาลและเส้นทางไม่ควรขนของไปมากเกินจำเป็น (ถ้าเดินทางกับคณะทัวร์จะให้ดีควรปรึกษาบริษัททัวร์ก่อน)

          เนปาล
ฤดูร้อน ตั้งแต่ เมษายน – พฤษภาคม

ฤดูฝน มิถุนายน – กันยายน

ฤดูหนาว ตุลาคม – มีนาคม

อินเดีย

ฤดูร้อน ตั้งแต่ เมษายน-มิถุนายน

ฤดูฝน กรกฎาคม-กันยายน

ฤดูหนาว ตุลาคม-มีนาคม

โซนเวลาเนปาล

     เวลาเร็วกว่าเวลามาตรฐานที่กรีนิช ๕ ชั่วโมงสิบห้านาที ช้ากว่าไทย ๑ ชั่วโมงสิบห้านาที

โซนเวลาอินเดีย
เวลาเร็วกว่าเวลามาตรฐานที่กรีนิช ๕ ชั่วโมงครึ่งช้ากว่าไทย ๑ ชั่วโมงครึ่ง

สุขภาพ

     พัก ผ่อนให้เต็มที่ในวันแรกที่เดินทางมาถึง (ร่างกายจะได้แข็งแรง) รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้ว ดื่มน้ำสะอาด ขวดมีฝาที่ยังไม่เปิดใช้หรือที่ทางบริษัททัวร์จัดให้ ห้ามดื่มน้ำประปา ควรหลีกเลี่ยงน้ำแข็ง ที่สำคัญอาหารทุกชนิดต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทาน

อื่น ๆ

    ยารักษาโรค ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น หมวก แว่นตา ผ้าอนามัย เครื่องสำอาง ครีมกันแดด อาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ น้ำพริก หมูหยอง หมูแผ่น สำหรับคนที่รับประทานอาหารท้องถิ่นไม่ค่อยได้ หมอนครึ่งวงกลมแบบเป่าลม สำหรับเวลานอนบนรถ ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทางนาน (มาก) จะทำให้ไม่เมื่อยคอ

กล้อง-ฟิล์ม

     ควรเตรียมไปจากเมืองไทย (ในจำนวนที่เพียงพอ) เพราะราคาถูกและคุณภาพดีกว่า อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการถ่ายรูป แบตเตอรรี่ ที่ชาร์จไฟ memory card เป็นต้น

ปลั๊กไฟ
&
Universal
adapter

      ท่านต้องเตรียมหาซื้อปลั๊กไฟชนิดขากลมมาด้วย เพราะปลั๊กไฟที่ประเทศอินเดียและเนปาลนั้นเป็นแบบกลม ๓ รู ดังภาพ เวลาเปิดต้องกดสวิตลง (ระบบไฟเช่นเดียวกับประเทศไทย ๒๒๐v)

 

ข้อมูลจากหนังสือ “ร้อยมุมมองส่องอินเดีย, สู่แดนพระพุทธองค์” โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

Facebook Comments