อุทยาน ลุมพินีวัน  ในเครั้งพุทธกาลอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้หลากสายพันธุ์  ในคราวที่ออกดอกบานสะพรั่ง มีสีงามหลากหลาย หมู่แมลงภู่ผึ้งต่างชมสีและเกสรของดอกมีเสียงดุจมโหรี  ไพเราะจับใจยิ่งนัก จึงเป็นที่ร่มรื่นเป็นรมณียสถาน ที่ควรแก่การพักผ่อน และร่วมละเล่นของเหล่าเชื้อพระวงศ์ ทั้งศากยวงศ์เมืองกบิลพัสดุ์และโกลิยวงศ์เมืองเทวทหะ  เมื่อถึงคราวงานนักขัตฤกษ์ เช่น วันเพ็ญเดือนวิสาขะ  วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ  วันเพ็ญเดือนมาฆะ  เป็นต้น ก็จะมารวมกัน ณ ที่อุทยานหลวงนี้

ในปัจจุบัน  อุทยานลุมพินี ได้รับการฟื้นฟูดูแลให้มีความเป็นธรรมชาติดุจครั้งพุทธกาล  มีการปลูกป่าไม้นานาพันธุ์  เช่น สาละ ประดู่ลาย  ซึ่งเป็นไม้ในพุทธประวัติ เพื่อเป็นพุทธบูชา

 สาละ  เป็นคำสันสกฤต  อินเดียเรียกต้นสาละว่า  “Sal” เป็นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง  ท้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสำคัญในพุทธประวัติดังนี้

          ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ
ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายาทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระสูติการ จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระสูติการที่กรุงเทพวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า “สวนลุมพินีวัน” เป็นสวนป่าไม้  “สาละ” พระนางได้ทรงหยุดพักอิริยาบท (ปัจจุบันคือตำบล “รุมมินเด” แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล)  พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละ และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์เพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี คำว่าสิทธัตถะแปลว่า “สมปรารถนา”

       อีกตอนหนึ่งก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้
เมื่อ พระองค์เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจะอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณ ขอให้การลอยถาดทองคำนี้สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชราได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฏว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควงไม้สาละ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ต้นโพธิ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลารุ่งอรุณ ณ วันเพ็ญเดือน 6

       ตอนสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เมื่อ พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์  ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ แล้วพระองค์ก็ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) และแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน

สาละ เป็นพืชพวกเดียวกันกับพะยอม เต็ง รัง อยู่ในสกุล “Shorea   ในวงศ์ ” Diptercaroaceae 
         ลักษณะ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ลำต้น เปลาตรง เปลือกสีเทาแตกเป็นร่อง เป็นสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ปลายกิ่งมักจะลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ใบ เดี่ยว ดกหนาทึบ รูปไข่กว้าง โคนใบเว้าเข้า ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ผิวใบเป็นมัน ขอบใบเป็นคลื่น ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ผล เป็นผลชนิดแห้ง แข็ง มีปีก 5 ปี ปีกยาว 3 ปีก ปีสั้น 2 ปีก บน แต่ละปีกมีเส้นตามความยาวของปีก 10 – 15 เส้น
สาละ Shorea robusta  Roxb. เรียกกันว่า “สาละอินเดีย” เพราะยังมีอีกต้นหนึ่ง เรียกว่า “สาละลังกา” หรือ “ต้นลูกปืนใหญ่” (Cannonball Tree) เป็นพืชในวงศ์จิก วงศ์ Lecythidaceae (ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ Barringtoniaceae) มืชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Couroupita guianensis  Aubl.

DSC04626 DSC04627 DSCN2652 DSCN2654 1244166857

 

ไม้ประดู่ลาย 
หรือ ประดู่แขก ชาวอินเดียเรียก “ลิสโซ” ชาวฮินดูเรียก “ลิสสู” ในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะพระราชบิดาแล้ว  ได้พาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารไปสู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน  คือป่าไม้ประดูลายหรือประดู่แขก
ประดู่ลาย  เป็นพันธุ์ไม้ในกลุ่มพวกไม้พลอง ชิงชัน คืออยู่ในสกุล “ Dalbergia   ในวงศ์ ” Papilionaceae  ประดู่ ลายเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ ลำต้น เปลาตรง เปลือก สีเทา แก่นสีน้ำตาล และมีแถบสีดำแซม เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง  ใบ เป็นใบประกอบ ใบย่อย 3-5 ใบ ขนาดใหญ่รูปมนป้อม ปลายใบแหลม ใบอ่อนมีขนนุ่มๆ แต่เมื่อใบโตเต็มที่ขนจะร่วง ดอก เป็นช่อสั้นๆ ออกตามง่ามใบ ดอก สีเหลืองอ่อนๆ ผล เป็นฝัก แตกได้ แต่ละฝักมี 1-3 เมล็ด

DSCN2657 DSCN2656 DSCN2661 DSCN2662

Facebook Comments